เมื่อเดือนที่ผ่านมาฉันได้ประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ซึ่งฉันไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิด เหตุเกิดจากวันนั้นฉันกับพี่ฉันกำลังจะเดินทางกลับบ้านเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร พี่ฉันได้เป็นคนขี่รถจักรยานยนต์ แํนเป็นคนซ้อน พี่ไดทำการติดเครื่อง(สตาร์ทเครื่อง)โดยใช้เท้าถีบคันสตาร์ทและเท้าฉันได้ไปอยู่ใกล้คันสตาร์ทพอดีทำให้นิ้วเท้าฉันแตกเป็นแผลเลือดไหลไม่หยุด เพราะบาดแผลลึกมาก เกือบถึงกระดูกนิ้วเท้า จึงต้องใช้ผ้ากดจนเลือดหยุดไหลแล้วไปทำการชำระล้างบาดแผลเพื่อให้บาดแผลสะอาด ส่งผลไม่ให้บาดแผลเกิดการอักเสบมากกว่านี้ ใช้สบู่ในการชำระล้างแล้วนำยาสมานแผลมาใส่ที่บริเวณแผลเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น พร้อมกับฆ่าเชื้อโรคต่าง เรามารู้จักกับแผลชนิดต่างดีกว่าพร้อมกับการรักษา
ประเภทของแผล
เนื่องจากแผลหรือบาดแผลเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีลักษณะแตกต่างกัน จึงสามารถจำแนกบาดแผลออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายวิธี ดังนี้
1. ตามความสะอาดของแผล ได้แก่
1.1 แผลสะอาด (clean wound) หมายถึง แผลที่ไม่มีการติดเชื้อหรือแผลที่เคยปนเปื้อน เชื้อแล้ว แต่ได้รับการดูแลจนแผลสะอาดไม่มีการติดเชื้อ เนื้อเยื่อของแผลเป็นสีชมพูอมแดง ไม่มีลักษณะของการอักเสบบวมแดง หรือแผลที่เกิดจากการวางแผนล่วงหน้า เพื่อการตรวจรักษา มีการควบคุมภาวะปราศจากเชื้อ เช่น แผลผ่าตัด แผลเจาะหลัง แผลให้น้ำเกลือ
1.2 แผลปนเปื้อน (contaminated wound) หมายถึง แผลเปิดที่เริ่มมีการอักเสบปวด บวม แดง ร้อน อาจมีสิ่งขับหลั่งเป็นน้ำเลือดหรือน้ำเหลือง มีโอกาสติดเชื้อสูง เช่น แผลถลอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลถูกรังสี แผลถูกกรด-ด่าง ไฟฟ้าช็อตหรือแผลผ่าตัดผ่านบริเวณที่มีการอักเสบ ปนเปื้อน เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อวัยวะสืบพันธุ์ ทางเดินปัสสาวะ ใส่ท่อระบาย เช่น แผลเปิด ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น
1.3 แผลติดเชื้อ (infected wound) หมายถึง แผลที่มีการอักเสบลุกลามเป็นบริเวณกว้าง จากการติดเชื้อมีสิ่งแปลกปลอมหรือปนเปื้อนมาก อาจมีสิ่งขับหลั่งเป็นหนอง ช้ำเลือดช้ำหนองหรือเนื้อเยื่อตาย ส่วนใหญ่เป็นแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ
2. ตามลักษณะการฉีกขาดของผิวหนัง
2.1 แผลปิด (closed wound) หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุไม่ฉีกขาดออกจากกัน แต่เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยบริเวณนั้น ทำให้เลือดออกมาคั่งรวมกันเป็นก้อน (hematoma) ทำให้เกิดการเจ็บปวด มักเกิดจากการกระแทก ถูกดึงรั้งหรือถูกกระตุกอย่างแรง เช่น แผลฟกช้ำ (contusion bruise) กระดูกหักโดยไม่มีแผลภายนอก แผลไหม้พอง สมองได้รับความกระทบกระเทือน (concussion of brain) เป็นต้น
2.2 แผลเปิด (opened wound) หมายถึง แผลที่ผิวหนังบางส่วนฉีกขาดออกจากกัน ได้แก่
2.2.1 แผลถลอก (abrasion) ลักษณะแผลตื้น มีรอยเปิดเพียงชั้นนอกของผิวหนัง หรือเยื่อบุ มีเลือดซึมเล็กน้อย สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ ถูกขีด ข่วน หรือลื่นไถลบนพื้นหยาบขรุขระ
2.2.2 แผลฉีกขาด (laceration wound) ลักษณะแผลผิวหนังบริเวณขอบแผลฉีกขาด กระรุ่งกระริ่ง และมีการทำลายของเนื้อเยื่อแผลมาก แผลอาจลึก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สาเหตุเกิดจาก อุบัติเหตุ เช่น รถล้ม หกล้ม ถูกของมีคมเกี่ยว ถูกสะเก็ดระเบิด (explosive wound) แผลถูกบดขยี้ (cursh wound) เช่น จากเครื่องจักรบด เป็นต้น
2.2.3 แผลถูกตัด (incision wound) ลักษณะแผลขอบแผลจะเรียบซึ่งเกิดจากของ มีคมผ่านผิวหนังเข้าไป เช่น ถูกมีดบาด แผลถูกแทง (puncture wound) ลักษณะแผล ปากแผลแคบลึก ซึ่งเกิดจากวัตถุ มีคมปลายแหลมทะลุผ่านผิวหนังเข้าไป เช่น แผลตะปูตำ ถูกมีดแทง แผลลักษณะนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น เชื้อบาดทะยัก
2.2.4 แผลทะลุทะลวง (penetration wound) ลักษณะแผลมีการฉีกขาดและการบดทำลายของเนื้อเยื่อ ซึ่งเกิดจากวัตถุแทงทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปถึงเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ หรืออวัยวะภายใน ทำให้มีการตกเลือด เช่น แผลถูกยิง (gun shot wound) กระสุนวิ่งผ่านเยื่อบุผิวหนัง และเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ ผิวหนัง ทำให้เกิดการฉีกขาด (laceration) การบดทำลาย (crushing) เกิดคลื่น (shock wave) และเกิดช่องว่างชั่วคราว (temporary cavitation) ตามที่แนวกระสุนผ่านไป ซึ่งเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วของกระสุน
3. ตามระยะเวลาที่เกิดแผล
3.1 แผลสด หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น แผลถูกมีดบาด แผลผ่าตัด เป็นต้น
3.2 แผลเรื้อรัง หมายถึง แผลที่มีการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อมักเรียกว่า ulcer มีการตาย ของเนื้อเยื่อ (sloughing or shedding) ซึ่งเรียกว่า เนื้อตาย (necrotic tissue) และมีสิ่งขับหลั่งจากการอักเสบของแผลเป็นหนอง (purulent exudate) แผลจะหายช้าและการดูแลรักษายุ่งยากซับซ้อน ได้แก่
3.2.1 แผลกดทับ (pressure sore) เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและ ผิวหนังบริเวณนั้นถูกกดทำให้เนื้อเยื่อและผิวหนังขาดเลือดและออกซิเจนจึงเกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดแผลกดทับได้มากที่สุด คือ ก้นกบ (sacrum) รองลงมา ได้แก่ สะโพก ส้นเท้า ข้อศอก เข่า ข้อเท้า
3.2.2 แผลที่เกิดจากการฉายรังสีเพื่อการรักษา ทำให้เนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีอ่อนแอ
3.2.3 แผลเนื้อเน่า (gangrene) เป็นแผลที่เกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยงหรือเลือดมา เลี้ยงไม่เพียงพอ (venous insufficientcy) พบบ่อยจากหลอดเลือดตีบแข็ง เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน มักใช้เรียกแผลที่เป็นบริเวณอวัยวะส่วนปลาย เช่น แขน ขา นิ้วมือ-เท้า ไส้ติ่ง เป็นต้น พบได้ 2 ชนิดคือ dry gangrene เป็นแผลเนื้อตายแห้งดำ มีกลิ่นเหม็นไม่รู้สึกเจ็บปวด ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อหรือข้ออาจหลุดได้ง่าย แ ละ wet gangrene เป็นแผลเน่าและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ คลำแผลได้ยินเสียงกรอบเกรบ มีสิ่งขับหลั่งจากแผลตลอดเวลา
การดูแลรักษาแผล
หลักในการรักษาแผลเรื้อรัง มี 3 ปัจจัย
ควบคุมการติดเชื้อ หากแผลนั้น ๆ มีการติดเชื้อ จำเป็นจะต้องมีการดูแลบาดแผลเหมือนแผลติดเชื้อดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าพื้นแผลแดงชมพู แสดงว่าแผลดีไม่มีการติดเชื้อ ไม่ต้องใส่น้ำยาฆ่าเชื้อใด ๆ เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุปิดแผลที่ให้ความชุ่มชื้น หากไม่มีวัสดุปิดแผลดังกล่าว อาจใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ แล้วปิดไว้บนแผล และเปลี่ยนผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือบ่อย ๆ ไม่ให้แผลแห้ง
การกำจัดเนื้อตาย บ่อยครั้งที่พบว่า แผลเรื้อรังนั้นมีเนื้อตาย แข็งสีดำหรือเนื้อตายนุ่มสีเหลือง/น้ำตาลอยู่บนแผล ในบางครั้งเราอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสะเก็ดหรือหนอง เนื้อตายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดขวางการหายของแผล หากเนื้อตายที่อยู่บนแผลมีขนาดใหญ่ ควรส่งไปโรงพยาบาลเพื่อตัดเนื้อตายเหล่านี้ทิ้งไป แต่หากเนื้อตายมีขนาดเล็ก อาจใช้เจลใส่ลงไปเพื่อทำให้เนื้อตายนิ่มลงและหลุดออกได้เองโดยขบวนการกำจัดเนื้อตายของร่างกายเอง
การควบคุมความชื้น การหายของแผลแบบชุ่มชื้นนั้น มีประสิทธิภาพอย่างมาก เมื่อเรานำมาใช้กับแผลเรื้อรัง เพราะแผลเรื้อรังเป็นแผลที่หายยาก วัสดุที่ใช้จะให้ความชุ่มชื้นกับแผลแต่ละสภาพแตกต่างกัน ดังนั้นก่อนใช้ควรศึกษาให้เข้าใจ จะช่วยให้แผลหายได้อย่างรวดเร็ว และไม่เสียเงินมากเกินไป
จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมุ่งเน้นที่บาดแผลโดยเฉพาะ แต่เราต้องตระหนักถึงปัจจัยที่ส่งเสริมให้การหายของแผลเกิดขึ้นอย่างดีด้วย เช่น ภาวะโภชนาการ ,การได้รับสารหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อที่งอกใหม่ , การสูบบุหรี่ ,การดื่มสุรา เป็นต้น
แผลกดทับ
แผลกดทับเกิดได้ ไม่เพียงผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ แม้แต่ที่บ้านของคุณเอง ก็อาจมีญาติพี่น้องหรือมิตรสหายซึ่งเจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่คุณช่วยได้
แผลกดทับเกิดขึ้นได้อย่างไร
แผลกดทับเกิดจากการที่ร่างกายอยู่กับที่ไม่ขยับเขยื้อนนานมากกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกน้ำหนักของตัวผู้ป่วยกด โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกมีการกดทับเป็นเวลานาน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงแล้วนำไปสู่การตายของผิวหนังบริเวณนั้น มีสัญญาณของการกดทับเริ่มจาก ผิวหนังเริ่มแดง หากไม่มีการรักษาที่ถูกต้องปล่อยให้มีการกดที่นานขึ้น จะทำให้การตายของผิวหนังลุกลามไปเรื่อย ๆ จากผิวหนังชั้นบนลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ ลงไปถึงกระดูกได้เลย
อันตรายของแผลกดทับ
ถ้าตรวจพบแผลกดทับในระยะแรก ซึ่งจะเป็นเพียงแผลถลอก การรักษาสามารถทำได้ง่าย แต่ถ้าแผลลึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ รับประทานอาหารไม่ได้ ผู้ที่มีโรคเบาหวานและมีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ทำอย่างไรไม่ให้เป็นแผลกดทับไม่ยากเลย เพียงแต่จัดให้ผู้ป่วยนอน นั่ง บนที่นอนหรือที่นั่งนุ่ม ๆ หรือที่นอนลม โดยอาจใช้ที่นอนปิกนิก เบาะรองนั่งทำด้วยใยสังเคราะห์ ความหนาประมาณ 2 นิ้ว วางลงบนที่นอน เก้าอี้หรือรถเข็นนั่งก่อน จากนั้นต้องเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลดการกดทับบริเวณผิวหนังและปุ่มกระดูก ต้องสำรวจผิวหนังว่าเกิดการกดทับหรือไม่ หลังเปลี่ยนท่า ถ้าพบมีรอยแดงแล้วไม่หายใน 24 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกดทับบริเวณนั้นจนกว่ารอยแดงจะหายไป หรือถ้าจำเป็นต้องพลิกมากดบริเวณนั้นให้ลดลงเหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แล้วรีบเปลี่ยนเป็นท่าอื่น ห้ามนวดหรือคลึงบริเวณที่เป็นรอยแดงนั้นเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังถลอกเกิดบาดแผลได้
ดูแลต่อเนื่องเมื่อกลับบ้านเพื่อป้องกันแผลกดทับอย่าลืมพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมงใช้หมอนนุ่มรองตามปุ่มกระดูกดูแลความสะอาดผิวหนังไม่ให้เปียกชื้นตรวจสภาพผิวหนังทุกครั้งเมื่อพลิกตะแคงตัวหากพบรอยแดงหรือผิวหนังถลอกด้านใด ควรหลีกเลี่ยงการนอนทับผิวหนังบริเวณนั้นถ้าเป็นแผลต้องรีบรักษาแผลให้หายโดยเร็วหากพบแผลลุกลามควรมาพบแพทย์
การรักษาแผลกดทับโดยเบื้องต้น
โดยการรักษาแผลกดทับในสถานพยาบาลในบางครั้งการนอนโรงพยาบาลเพื่อการรักษาแผลกดทับเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษา อีกทั้งในโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่า การรักษาจีงมีการแนะนำการทำแผลโดยเบื้องต้นให้กับญาติ และผู้ดูแลที่ทางโรงพยาบาลเห็นว่าจะสามารถทำได้เอง แล้วส่งต่อมารักษาที่บ้าน การรักษาแผลกดทับให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางคลินิก จะแบ่งระยะของแผลกดทับได้ 4 ระดับ และมีการรักษาดังนี้
- ระดับที่ 1 ผิวหนังไม่มีการฉีกขาด แต่เป็นรอยแดง กดบริเวณรอยแดงไม่จางหายภายใน 30 นาที
- ระดับที่ 2 ผิวหนังส่วนบนหลุดออก ฉีกขาดเป็นแผลตื้น มีรอยแดงบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ มีอาการปวด บวม แดง ร้อน มีสิ่งขับหลั่งจากแผลปริมาณเล็กน้อย หรือปานกลาง
- ระดับที่ 3 มีการทำลายผิวหนังถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีรอยแผลลึกเป็นหลุมโพรง มีสิ่งขับหลั่งออกจากแผลมาก อาจมีกลิ่นเหม็น
- ระดับที่ 4 มีการทำลายถึงเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก แผลเป็นโพรง มีสิ่งขับหลั่งออกจากแผลมาก มีกลิ่นเหม็นสำหรับแผลกดทับในแต่ละระดับ มีข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ดังนี้
แผลกดทับระดับ 1ดูแลโดยมีการป้องกันแรงเสียดทานแรงกดทับ โดยใช้อุปกรณืที่ช่วยลดแรงกดทับ เช่น หมอน เจลโฟม ที่นอนลม เปลี่ยนท่าทุก 2 ชั่วโมง ทาโลชั่นหรือครีมในผู้ป่วยที่มีผิวหนังแห้ง ดูแลผิวหนังไม่ให้เปียกชื้น และกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวแผลกดทับระดับ 2
ดูแลเหมือนระดับที่ 1 เพื่อป้องกันไม่ให้มีแผลเพิ่ม ล้างแผลด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ เช็กรอบ ๆแผลด้วยแอลกอฮอล์ 70% ใช้วาสลีนทาผิวหนังรอบแผลเพื่อปกป้องผิวหนังไม่ให้เกิดการเปียกแฉะ พิจารณา เลือกใช้วัสดุปิดแผลดังนี้
กรณีแผลสีแดง หรือมีเนื้อตายสีเหลืองที่มีน้ำเหลืองน้อยถึงปานกลาง: อาจปิดด้วยแผ่นฟิล์ม หรือแผ่นซึมซับที่ดูดซับของเหลวได้ดี แต่ต้องทำให้สภาพแวดล้อมชุ่มชื้น เพื่อแผลจะได้หายเร็ว ตัวอย่างเช่น ไฮโดรคอลลอยด์ โฟม หรือแผ่นซึมซับที่สกัดจากสาหร่าย
กรณีมีเนื้อตายสีดำแผลค่อนข้างแห้ง สีเหลือง ที่มีน้ำเหลืองน้อย: การรักษาแผลลักษณะนี้จะต้องแยกเนื้อตายออกจากเนื้อดีก่อนเป็นอัดับแรก แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเอาเนื้อตายทิ้งไป ซึ่งคนไข้จะเจ็บปวดมาก ปัจจุบันได้มีการนำผลิตภัณฑ์ ที่สามารถแยกเนื้อตายออกได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดเรียกว่า ไฮโดรเจล (Hydrogel) หรือเจลสำหรับแผลเรื้อรัง ซึ่งจะช่วยทำให้ความชื้นไปที่เนื้อตาย จนเนื้อตายหลุดเอง วิธีนี้มีข้อดีหลายประการ เช่นคนไข้ไม่เจ็บปวด ไม่รบกวนเนื้อเยื่อข้างเคียง และที่สำคัญเจลสำหรับแผลเรื้อรัง (Hydrogel) ยังช่วยให้แผลหายเร็ว
กรณีแผลติดเชื้อ:
อาจพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อพวก ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver sulfa diazine) ปิดด้วยผ้าก๊อซช่วงระยะหนึ่งจนกระทั่งอาการของการติดเชื้อหายไป หรือปัจุบันมีแผ่นซึมซับที่มีตัวยาฆ่าเชื้อ เช่น แผ่นโฟมที่มียาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโลหะเงิน (silver dressings)ช่วยควบคุมการติดเชื้อ
แผลกดทับระดับ 3, 4 พิจารณาเลือกวัสดุปิดแผลคล้ายกับการพิจารณาระดับ 2 เนื่องจากแผลในระดับนี้มีการสูญเสียเนื้อเยื่อค่อนข้างมากทำให้มีน้ำเหลืองค่อนข้างมาก และอาจมีภาวะแทรกซ้อน ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อติดตามผลการดูแลรักษาแผลอย่างสม่ำเสมอ
ข้อแนะนำในการดูแลแผลกดทับเองที่บ้าน สามารถทำได้ง่ายดังนี้
ล้างแผลกดทับด้วยน้ำเกลือ และเช็ดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นซับให้แผลแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาโพวีโดน-ไอโอดีน (Povidone Iodine) เช็ดแผลโดยไม่จำเป็น
ใส่ไฮโดรเจลลงบนแผลกดทับหนา 3-5 มิลลิเมตรเพื่อแยกเนื้อตายออกและ/หรือให้ความชุ่มชื้นกับแผลเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้นปิดแผ่นซึบซับ และยึดแผ่นซึมซับด้วยแผ่นฟิล์มกันน้ำได้ เพื่อที่จะอาบน้ำคนไข้ได้ และยังป้องกันอุจจาระและปัสสาวะได้(ในกรณีที่แผลกดทับอยู่ใกล้รูเปิดทวาร)
ในกรณีที่แผลกดทับมีเนื้อตายอยู่ให้ทำแผลใหม่วันละ 1 ครั้ง หากเนื้อตายหลุดออกแล้ว ให้ทำแผลใหม่ 3 วัน/ครั้ง หรือตามความเหมาะสมหากคนไข้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน แผลติดเชื้อ ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์จะช่วยผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับได้อย่างไร หากคุณพบญาติที่เป็นแผลกดทับแล้วยังไม่ได้รับคำแนะนำในเรื่องการดูแล สามารถปรึกษาได้จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือถ้าคุณมีโอกาสพบเจอผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลกดทับ กรุณาให้คำแนะนำตามวิธีข้างต้น ก็จะเป็นการช่วยกันป้องกันแผลกดทับ และถือว่าเป็นคำแนะนำที่มีคุณค่าอย่างมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น